วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อันตรายของแก๊สน้ำตา


แก๊สน้ำตา หรือในภาษาอังกฤษ เรียกว่า “tear gas” เป็นคำรวมๆ ที่หมายถึง 
สารเคมีที่ออกฤทธิ์ให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุตา จนกระทั่งมีน้ำตาไหลออกมา 
แต่ความจริงแล้ว สามารถระคายเคืองต่อเยื่อบุต่าง ๆ ทั้งที่ตา ทางเดินหายใจ 
ทางเดินอาหาร รวมทั้งผิวหนังด้วย โดยส่วนใหญ่ การใช้แก๊สน้ำตา 
มีจุดประสงค์เพื่อสลายการชุมนุมของฝูงชนจำนวนมาก 

ฤทธิ์ของแก๊สน้ำตา 
          แก๊สน้ำตา มีผลระคายเคืองต่ออวัยวะต่าง ๆ คือ ตา เยื่อบุจมูกและทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องปาก และผิวหนัง โดยทำให้เกิดอาการดังนี้

          ตา : ทำให้มีน้ำตาไหล แสบตา หนังตาบวม เยื่อบุตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น 
ต้องกระพริบตาตลอด รวมทั้งอาจทำให้ตามองไม่เห็น (ตาบอดชั่วคราว) 
และอาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ หากถูกกระแทกโดยตรง 
หรืออาจมีเลือดออกในลูกตา หรือติดเชื้อที่ตาในภายหลังได้

          จมูก : ทำให้แสบจมูก และมีน้ำมูกไหล

          ปาก และทางเดินอาหาร : ทำให้แสบปาก น้ำลายไหล และอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้
        
  ทางเดินหายใจ : ทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ จาม มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก 
อาจมีหลอดลมตีบจนหายใจไม่ออก โดยเฉพาะในคนไข้ที่เป็นโรคหอบหืด 
หรือถุงลมโป่งพองอยู่ก่อน (จึงต้องระวังให้มากในคนกลุ่มนี้) 
และอาจมีปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ได้ใน 12-24 ชั่วโมง หากได้รับในปริมาณที่มาก

          ผิวหนัง : หากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแสบ และบวมแดง หากสัมผัสนาน 
อาจเหมือนถูกไฟไหม้ นอกจากนี้อาจมีผิวหนังอักเสบจากการแพ้ (contact dermatitis) ได้ 
ซึ่งทำให้เกิดผื่นคัน โดยเกิดหลังจากสัมผัสไปแล้ว 72 ชั่วโมง

          อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ : อาการปวดศีรษะ ง่วงซึม, เจ็บหน้าอก ความดันเลือดตก เป็นต้น
          การออกฤทธิ์ของแก๊สน้ำตา จะออกฤทธิ์ในทันทีทันใดที่สัมผัส (0-30 วินาที) และจะคงอยู่นานประมาณ 10-30 นาทีหลังจากพ้นการสัมผัสนั้น แต่อาจมีอาการอยู่นานได้ถึง 24 ชั่วโมงขึ้นไป (บางทีนานถึง 3 วัน) และอาการจะรุนแรง และเป็นอันตรายมากขึ้น หากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นมากหรืออยู่ในบริเวณที่มิดชิด ไม่มีการถ่ายเทของอากาศ

การรักษา 
          การปฏิบัติที่สำคัญอันดับแรก คือ ต้องหยุดสัมผัสสารเคมีให้ได้ก่อน อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องให้การรักษาพิเศษอะไร ซึ่งในขั้นต้นได้แก่

          การหลีกเลี่ยงและออกจากสถานที่ที่มีแก๊สน้ำตานั้น ไปสู่บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทที่สะดวก และมีลมพัดให้สารเคมีนั้นกระจายออกไป

          ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารเคมีออก และใส่ไว้ในถุงที่ปิดมิดชิด (2 ชั้นยิ่งดี) โดยพยายามอย่าให้เสื้อผ้าเปียก เพราะสารเคมีจะละลายติดตามร่างกายได้