เผยข้อมูลปริมาณน้ำแข็งหน้าร้อนในอาร์กติกปีนี้ต่ำกว่าสถิติต่ำสุดเมื่อปี 2007 ที่เคยต่ำกว่าปี 2005 และยังลดต่ำกว่าเมื่อ 3 ทศวรรษก่อนถึงครึ่งหนึ่ง โดยแบบจำลองทำนายปี 2050 จะไม่เหลือน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับเร็วกว่าคำทำนาย ชี้ต้นเหตุเกิดจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น
ข้อมูลการละลายของน้ำแข็งที่มหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) ทางขั้วโลกเหนือนี้เอพีอ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งสหรัฐ (National Snow and Ice Data Center) ในโบลเดอร์ โคโลราโด สหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2012 ที่ผ่านมาน้ำแข็งในฤดูร้อนของอาร์กติกลดเหลือเพียง 3.41 ล้านตารางกิโลเมตร
ปริมาณน้ำแข็งที่เหลืออยู่ดังกล่าวต่ำกว่าปริมาณน้ำแข็งหน้าร้อนในปี 2007 อยู่ 18% ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2007 มีปริมาณน้ำแข็งเหลือ 4.17 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำแข็งที่น้อยกว่าในฤดูร้อนของอาร์กติกเมื่อปี 2005 อยู่ 22%
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2012 ปริมาณน้ำแข็งเริ่มกลับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรน้ำแข็งของมหาสมุทรอาร์กติกที่จะละลายในฤดูร้อนและก่อตัวเพิ่มในฤดูหนาว ซึ่ง วอลต์ ไมเออร์ (Walt Meier) นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ข้อมูลดังกล่าว เผยว่าปริมาณน้ำแข็งอาร์กติกในหน้าร้อนเมื่อช่วงทศวรรษ 1980 นั้นน้อยกว่าพื้นที่ “แผ่นดินใหญ่” (the Lower 48) ของสหรัฐฯ เพียงเล้กน้อย แต่ตอนนี้ปริมาณน้ำแข็งที่เหลืออยู่น้อยกว่าในอดีตถึงครึ่งหนึ่ง
มาร์ก เซอร์เรซ (Mark Serreze) ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งกล่าวว่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนจากน้ำมือมนุษย์ ได้ละลายน้ำแข็งในมหาสมุทรและทำให้น้ำแข็งบางลงไปมาก ซึ่งน้ำแข็งได้ลดลงมากจนน่าตกใจในปีนี้ และการละลายของน้ำแข็งในหน้าร้อนก็เร็วขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่ง 6 ครั้งของน้ำแข็งเดือนกันยายนที่เหลือน้อยที่สุดก็เกิดขึ้นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งนับเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ
เซอร์เรซกล่าวว่าการละลายของน้ำแข็งมากขึ้นในฤดูร้อนเป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อเนื่องทุกวัน และขั้วโลกนับเป็นบริเวณที่เห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอันดับแรกๆ ในโลก ซึ่งเสริมความเห็นนี้โดย เจสัน บอกซ์ (Jason Box) นักวิจัยขั้วโลกจากมหาวิทยาลัยไอโฮโอสเตท (Ohio State University) กล่าวว่า น้ำแข็งทะเลนั้นเป็นสิ่งชี้วัดอุณหภูมิของในธรรมชาติที่ไวมากๆ
ไมเออร์ยังเปรียบเทียบว่าอาร์กติกเป็นเหมือนเครื่องปรับอากาศที่รักษาสิ่งต่างๆ ให้เย็นลง แต่เมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้น ก็เหมือนเครื่องปรับอากาศที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยทะเลน้ำแข็งนั้นจะสะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ออกไปมากกว่า 90% แต่เมื่อน้ำแข็งเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยมหาสมุทรที่มีสีคล้ำกว่า และมากกว่าครึ่งของความร้อนจากดวงอาทิตย์จะถูกดูดซับไว้ในน้ำ
นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งกล่าวว่า แบบจำลองของศูนย์ชี้ว่าอาร์กติกจะสิ้นน้ำแข็งทั้งหมดในฤดูร้อนปี 2050 หากแต่แนวโน้มปัจจุบันที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่าน้ำแข็งกำลังละลายเร็วกว่าที่แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ทำนาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น