วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สมุนไพร"บัวบก"คุณค่าที่มากกว่าแก้ช้ำใน




เอ่ยชื่อสมุนไพร “บัวบก” ขึ้นมาทีไร คุณสมบัติแก้ช้ำในขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ความจริงแล้วยังมีสรรพคุณที่น่าสนใจอื่นอีกมากมาย

บัวบกหรือผักหนอก เป็นสมุนไพรบำรุงสมองที่คนเฒ่าคนแก่รู้จักกันเป็นอย่างดี หมอยาทุกภาคใช้บำรุงร่างกาย บำรุงประสาท บำรุงความจำ บำรุงสายตา บำรุงผม บำรุงเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ ซึ่งสรรพคุณดีที่สุดต้องใช้ผักหนอกขมซึ่งมักขึ้นตามธรรมชาติ ใช้ได้ทั้งเด็กและคนแก่

ใน คัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย กล่าวว่า บัวบกทั้งต้นมีกลิ่นฉุน มีรสขมหวาน ย่อยได้ง่าย เป็นยาเย็น ยาระบาย ยาบำรุง ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ บำรุงเสียง ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้อักเสบ ผิวหนังเป็นด่างขาว โลหิตจาง มีหนองออกจากปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ น้ำดีในร่างกายมากไป ม้ามโต หืด กระหายน้ำ แก้คนเป็นบ้า โรคเกี่ยวกับเลือดและโรคที่มีสมุฏฐานจากเสมหะ

ในอินเดียบางแคว้นกินใบบัวบกกับนมวันละ 1-2 ใบ เป็นประจำทุกวัน เชื่อว่าจะช่วยทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใส ช่วยให้ความจำดีขึ้น บำรุงร่างกาย บำรุงประสาทและโลหิต ส่วนการแพทย์จีน ถือว่าบัวบกคือสมุนไพรของความเป็นหนุ่มสาว อีกด้วย

กินแอปเปิ้ล ลดไข้ !!!



บางคนพอร่างกายอ่อนแอ ก็เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ทว่าป่วยอย่างนี้บ่อยๆ แล้วจะต้องกินยาเรื่อยๆ คงไม่ดีนัก อีกทั้งคนกินยายากก็ยิ่งลำบากใจ วันนี้ 'มุมสุขภาพ' ภูมิใจแนะนำผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณลดไข้ได้ นั่นคือ 'แอปเปิ้ล'

ในแอปเปิ้ล อุดมด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งวิตามินบี1 บี2 บี6 โพแทสเซียม กำมะถัน เหล็ก และแมกนีเซียม ช่วยคลายเครียด ล้างพิษในไตและตับ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ไฟโตเคมิคอลเควอเซติน กรดมาลิก และเส้นใยแพ็กติน ให้สรรพคุณช่วยย่อย ล้างกระเพาะและลำไส้ ที่สำคัญน้ำซึ่งสกัดจากแอปเปิ้ล ดื่มแล้วช่วยลดไข้ได้

เพื่อความอร่อย และเพิ่มคุณค่า ยังสามารถผสมน้ำแอปเปิ้ลรวมกับน้ำที่สกัดจากแครอต เป็นการเติมสรรพคุณกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกด้วย

หากต้องการทำเป็นดื่มน้ำแอปเปิ้ลและแครอต มีส่วนผสมที่ต้องเตรียม ประกอบด้วย...
แอปเปิ้ลเขียว 1 ถ้วย
แครอต 1 ถ้วย
น้ำแข็งป่น 1 ถ้วย


ขั้นตอนในการทำ ให้ล้างทำความสะอาดแอปเปิ้ลเขียวและแครอต จากนั้นขูดแครอตเป็นเส้นๆ ส่วนแอปเปิ้ลเขียวหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าขนาดเล็ก ได้แล้วนำส่วนผสมไปสกัดพร้อมกันด้วยเครื่องสกัดน้ำผักและผลไม้ เสร็จแล้วเติมน้ำแข็งป่นช่วยเพิ่มรสชาติ และควรดื่มทันที.

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ดูแลสุขภาพจิตช่วงน้ำท่วม

ปัญหาสุขภาพจิตที่มากับอุทกภัย เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะจากการลงพื้นที่ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเมินปัญหาสุขภาพจิตใน 36 จังหวัด พบยอดรวมสะสมถึง 92,310 ราย มีความเครียดสูง 3,706 ราย มีภาวะซึมเศร้า 5,313 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตายอีก 727 ราย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง และต้องแนะนำผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันผู้ประสบภัยทุกคนต้องดูแลสุขภาพจิตตัวเองด้วย

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต สธ. แนะแนวทางการดูแลจิตใจในช่วงอุทกภัย ประกอบด้วย 10 ข้อ ดังนี้


1. ตั้งสติให้มั่น มองทุกปัญหาว่ามีทางแก้ไข

2. หากรู้สึกท้อใจ ให้ค้นหาแหล่งสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ได้แก่ ความรักความผูกพันกับคนในครอบครัว ความศรัทธาทางศาสนา การมีเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่า ความเชื่อว่าปัญหาจะผ่านไปแล้วมันจะดีขึ้น การมองเห็นสิ่งดีๆ ในชีวิต

3. ฝึกหายใจคลายเครียด และทักษะผ่อนคลายอื่นๆ

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง

5. พูดคุยกับคนใกล้ชิด อย่าคิดคนเดียว ช่วยกันปรึกษาหารือ แปลงปัญหาเป็นโอกาสในการสร้างความผูกพันใกล้ชิดต่อกัน

6. บริหารร่างกายเป็นประจำ เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวย อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที วันเว้นวัน

7. ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา

8. มองหาโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน

9. คิดทบทวนสิ่งดีๆ ในชีวิตเป็นประจำทุกวัน

10.จัดการปัญหาทีละขั้นทีละตอน ทำในสิ่งที่ทำได้สร้างความรู้สึกสำเร็จเล็กๆ จากสิ่งที่ทำ ไม่จมไปกับปัญหาที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ หลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติดในการจัดการความเครียด ความทุกข์ใจ